วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


รู้ทันอารมณ์

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์เอกรุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ปฏิปทาของท่านงดงาม อีกทั้งคำสอนของท่านก็ลุ่มลึก
เพราะเกิดจากการปฏิบัติจนเห็นแจ้งในสัจธรรม

คราวหนึ่งมีคนถามท่านว่า "หลวงปู่ครับ
ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้" ท่านตอบสั้น ๆ ว่า
"ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง"

ความโกรธนั้นก็เช่นเดียวกับอารมณ์อื่น ๆ
เราไม่สามารถตัดหรือกดข่มให้หายไปได้
การกดข่มนั้นทำได้อย่างมากก็แค่ขับไล่ให้มันหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดของใจ
เผลอเมื่อไรมันก็โผล่มาอาละวาดใหม่ บ่อยครั้งเรากลับพบว่ายิ่งกด
มันยิ่งโผล่ ยิ่งอยากให้มันหาย มันยิ่งออกมารบกวน
เหมือนกับวัยรุ่นเกเรที่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลในการจัดการความโกรธ คือรู้ทันมัน ปกติเวลาโกรธใคร
ใจเราจะพุ่งไปที่คนนั้น คิดหาทางเล่นงานหรือจ้องตอบโต้เขา
ไม่ด้วยคำพูดก็การกระทำ แต่ทันทีที่เราหันมามองใจของตน
จนเห็นความโกรธที่เผาลนจิตใจ ความโกรธจะวูบลงทันที
เหมือนกองไฟที่ถูกชักฟืนออกมา

ความโกรธลุกลามได้ก็เพราะเราหมกมุ่นครุ่นคิดถึงคนหรือเหตุการณ์ที่เราไม่ชอบ
การหมกมุ่นครุ่นคิดเช่นนั้นไม่ต่างจากการเติมฟืนให้กับกองไฟ
ยิ่งเติมก็ยิ่งร้อน แต่ทำไมถึงยังเติมไม่หยุด
นั่นก็เพราะเราเผลอปล่อยใจไปตามความโกรธ
แต่เมื่อใดที่เรากลับมารู้ทันความโกรธ หรือเห็นความโกรธกลางใจ
ความโกรธก็อ่อนแรงเพราะขาดเชื้อ ไม่นานก็ดับไป

จะรู้ทันความโกรธได้ต้องมีสติที่รวดเร็ว ถ้าสติเชื่องช้า
กว่าจะรู้ตัวว่าโกรธก็ด่าหรือทำร้ายเขาไปเรียบร้อยแล้ว
แล้วก็มานั่งเสียใจที่ทำสิ่งนั้นลงไป

การรู้ทันความโกรธนั้น ใช้ได้ทั้งกับตัวเองและคนอื่น
เวลาพ่อแม่เห็นลูกโกรธ ส่วนใหญ่มักบอกลูกว่า "อย่าโกรธ ๆ" หรือ
"โกรธเขาทำไม" การสอนเช่นนั้นทำได้อย่างมากแค่กระตุ้นให้ลูกกดข่มความโกรธ
ซึ่งได้ผลชั่วคราว จะดีกว่าหากแนะให้ลูกหันมามองใจของตน
และรับรู้ถึงความโกรธที่เกิดขึ้น
วิธีนี้จะช่วยให้ลูกรู้ทันความโกรธได้เร็วขึ้น

"โมน"เป็นเด็กอายุ ๓ ขวบ คราวหนึ่งโกรธป้ามาก แม่เห็น แทนที่จะห้ามลูกว่า
"อย่าโกรธ" ก็ถามลูกว่า "ลูกโกรธใช่ไหม" ลูกตอบว่าใช่ แม่จึงถามต่อว่า
"โกรธแค่ไหน เท่านี้หรือโกรธเท่าฟ้า" ลูกบอกว่าโกรธเท่าฟ้า ฟังดูน่าตกใจ
แต่ไม่นานโมนก็หายโกรธ

แม่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการช่วยให้โมนกลับมารู้ตัวและเห็นอารมณ์ของตนเอง
แต่การทำเช่นนี้มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อโมนเห็นความโกรธของตน
ความโกรธในใจก็อ่อนกำลังและดับลงไปในที่สุด

ใช่แต่ความโกรธเท่านั้น
แม้แต่ความอยากก็ดับลงได้ด้วยการรู้ทันหรือเห็นมันอย่างต่อเนื่อง
เย็นวันหนึ่งลูกสาววัย ๑๒
มาออดอ้อนแม่ว่าอยากได้ของเล่นชิ้นหนึ่งที่วางขายในร้าน เป็นไมโครโฟนเล็ก
ๆ ที่เสียบปลั๊กแล้วสามารถร้องเพลงได้หมือนนักร้องจริง ๆ พอแม่ถามราคา
ก็ตกใจเพราะราคาสูงถึง ๔๐๐ บาท

ลูกรบเร้าว่าอยากได้มากจริง ๆ แม่จึงตกลงกับลูกว่า
แม่จะหักเงินค่าขนมของลูกครึ่งหนึ่งใส่กระปุกทุกวันจนกว่าจะครบ ๔๐๐ บาท
อีกอย่างที่แม่อยากให้ลูกทำคือ ทุกเย็นเป็นเวลา ๑
อาทิตย์ให้ลูกเข้าไปที่ร้านนั้นและมองดูไมโครโฟน
"แล้วให้สังเกตด้วยว่าทุกวันที่มองดู ใจหนูรู้สึกอย่างไร
ชอบมันมากเหมือนเดิมทุกวันไหม"

ผ่านไป ๔ วันเท่านั้น ลูกก็มาบอกแม่ว่าไม่อยากได้แล้ว เมื่อแม่ถามว่าทำไม
ลูกตอบว่า "เบื่อ" ลูกพูดต่อว่า "ดูนาน ๆ ก็เบื่อเอง เพราะไม่เห็นมีอะไร
เก็บเงิน ๔๐๐ ไว้ดีกว่า"

เวลาเกิดความอยากได้นั่นได้นี่ เรามักทำตามความอยากทันที
คือขวนขวายไปหามันมา จึงไม่มีโอกาสที่จะเห็นหรือรู้ทันความอยาก
แต่หากเราลองไม่ทำตามมันดูบ้าง เช่น ไม่ซื้อหรือผัดผ่อนไปก่อน
มันจะแสดงตัวให้เราเห็นอย่างชัดเจน ด้วยการ
"โวยวาย"หรือดิ้นรนผลักดันให้เราคล้อยตามมันให้ได้
ตรงนี้เองหากเราลองตั้งสติและดูมันไปเรื่อย ๆ
ไม่ช้าไม่นานมันก็จะสงบลงไปเอง

อารมณ์ที่บั่นทอนจิตใจ ไม่ว่าความโกรธหรือความอยาก
เปรียบเสมือนโจรที่กลัวคนเห็น ทันทีที่ถูกเห็น มันก็จะทนเฉยไม่ได้
ต้องล่าถอยไป เช่นเดียวกับความมืดที่แพ้แสงสว่าง

ถ้าไม่อยากให้โจรร้ายครองใจ ก็ขอให้หมั่นดูใจของเราอยู่เสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น